“ว่าว” กีฬาประเพณีที่ค่อย ๆ เลือนหายไปจากเมืองไทย

ตามคำกล่าวขานของคนโบราณ ว่าว เป็นเพียงเครื่องมือที่ใช้วัดระดับและทิศทางของลมในอดีต อีกทั้งในอดีตนั้น คนโบราณมีความเชื่อว่า หากว่าวไปตกลงที่บ้านของใครหรือพื้นที่ไหน พื้นที่นั้นจะเป็นพื้นที่ที่มีความเจริญรุ่งเรืองในอนาคต ว่าวจึงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ถูกพระมหากษัตริย์หรือผู้นำในอดีตใช้ เพื่อช่วยเลือกพื้นที่หรือทำเลในการก่อร่างสร้างเมือง นอกจากนี้ ว่าวยังไปปรากฏในนิทานพื้นบ้านของไทย หรือนิทานปรัมปราอีกด้วย เช่น ในเรื่องแก้วหน้าม้า เป็นต้น แต่ในปัจจุบันการละเล่นว่าวนั้นเริ่มจางหายไปจากสังคมไทย เพราะปัจจัยหลาย ๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาของเทคโนโลยีสมัยใหม่ ความนิยมของเล่นในรูปแบบเทคโนโลยีที่มีมากกว่าความนิยมของเล่นในรูปแบบของเล่นพื้นบ้าน เป็นต้น

การแข่งขันว่าว ที่สนุกไม่แพ้เกมกีฬาอื่น ๆ 

การแข่งขันว่าวในปัจจุบัน แม้จะเลือนหายไปบ้างแล้ว แต่ในบางพื้นที่ท้องถิ่นก็ยังมีการสนับสนุนการแข่งขันว่าว โดยบรรจุการแข่งขันว่าวให้เป็นการแข่งขันกีฬาชนิดหนึ่งของท้องถิ่นนั้น ๆ เช่น บางท้องที่ของจังหวัดสตูล บางท้องที่ของจังหวัดสงขลา เป็นต้น

การแข่งขันว่าว ถือ เป็นการแข่งขันกีฬาที่ต้องใช้ความสามารถในหลาย ๆ ด้านดังนี้

ด้านศิลปะและจินตนาการ เพราะต้องออกแบบลายว่าวของตนเองให้ดึงดูดและน่าสนใจ เพื่อให้ได้เข้าชิงรางวัลในด้านความคิดสร้างสรรค์ แต่ละคนก็จะมีความคิดสร้างสรรค์ที่แตกต่างกันไปตามความถนัดและความชอบ

ด้านการคำนวณ การแข่งขันว่าวนั้น ต้องใช้ความรู้ทางด้านวิทยาศาตร์และคณิตศาสตร์ เพื่อคำนวณให้ว่าวของตัวเองลอยขึ้นสู่ท้องฟ้าได้อย่างสมดุล ไม่เอนเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง หรือมีอาการฉวัดเฉวียงในระหว่างที่ลอยอยู่บนท้องฟ้า ซึ่งว่าวที่ดี ควรจะต้องลอยตรง กล่าวคือ เชือกจะต้องทำมุมฉากกับพื้นโลกให้ได้มากที่สุด

ด้านงานฝีมือ การสร้างว่าวหนึ่งตัวนั้น ในสมัยก่อนจะนิยมนำไม้ไผ่มาเหลาให้เป็นทรงกลมและดัดให้เป็นรูปว่าวตามแบบที่เราต้องการ ซึ่งว่าวมีหลายรูปแบบ อาทิเช่น ว่าวจุฬา จะมีรูปร่างคล้ายกับดาวห้าแฉก เป็นว่าวที่คนไทยแทบทุกภาคนิยมเล่น ว่าวปักเป้า เป็นว่าวที่มีรูปร่างสี่เหลี่ยมและนิยมติดหางยาว ๆ เอาไว้ตรงเหลี่ยมล่างสุดของว่าวเพื่อความสวยงาม ว่าววงเดือน หรือว่าวบุหลัน เป็นว่าวที่มีรูปร่างลักษณะคล้ายเขาควาย นิยมเล่นทางภาคใต้ตอนล่างและประเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย ว่าวอีลุ้ม เป็นว่าวที่มีลักษณะไม่ต่างจากว่าวปักเป้า เพราะมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน นิยมติดพู่เอาไว้เพื่อความสวยงามและความสมดุล นอกจากนี้ยังมีการประดิษฐ์แอกว่าวหรือสนูว่าวขึ้น ซึ่งสิ่งประดิษฐ์ดังกล่าวจะส่งเสียดังเมื่อว่าวลอยขึ้นสู่ฟ้า และโดนลม

จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าการจะแข่งขันว่าวได้ในแต่ละครั้งนั้น จะต้องเตรียมตัวและมีความรู้เรื่องความสมดุลเป็นอย่างดี จึงจะสามารถเข้าร่วมการแข่งขั้นได้ ซึ่งถือเป็นความท้ายทายของผู้แข่งขัน อย่างไรก็ตามว่าวเป็นกีฬาประเพณีท้องถิ่นที่มีความสนุกสนานไม่แพ้กีฬาชนิดอื่น ๆ เลย ดังนั้นแล้วต้องช่วยกันอนุรักษ์ให้ว่าวคงอยู่ไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน


จากการละเล่นพื้นบ้าน กลายมาเป็นกีฬาท้องถิ่นสุดฮิต

การละเล่นไทยในอดีตมีหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นการละเล่นทางน้ำ ทางบก หรือทางลมก็ตาม แสดงให้เห็นว่าคนไทยมีความคิดสร้างสรรค์และเป็นนักคิดตัวยง และการละเล่นไทยในอดีตนั้นถูกส่งต่อมายังคนในยุคปัจจุบันในรูปแบบของการกีฬา ทำให้นึกถึงกลิ่นอายของความเป็นพื้นบ้านของไทยในสมัยก่อน ซึ่งการละเล่นไทยที่มักจะถูกหยิบยกใช้มาเป็นกีฬาท้องถิ่นนั้น มีด้วยกันหลายการละเล่นด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น เดินกะลา ตีวงล้อ ชักกะเย่อ หรือวิ่งกระสอบ เป็นต้น

การละเล่นดังกล่าวข้างต้นมักจะถูกนำมาใช้ในการแข่งขันกีฬาในระดับท้องถิ่น เช่น กีฬาตำบล กีฬาองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า กีฬาอบจ. กีฬาหน่วยงาน เป็นต้น เพราะการละเล่นดังกล่าวนั้น เป็นการละเล่นที่เรียบง่าย อาศัยทักษะ ไหวพริบปฏิภาณในการแข่งขันเป็นหลัก ซึ่งวันนี้เราจะนำพาท่านผู้อ่านมาทำความรู้จักกับการละเล่นดังกล่าวให้มากยิ่งขึ้น

การละเล่นสุดฮิตที่กลายมาเป็นกีฬา

การละเล่นสุดฮิตที่กลายมาเป็นกีฬาที่พบเห็นได้บ่อยครั้งในยุคปัจจุบัน ได้แก่

1.เดินกะลา การแข่งขันเดินกะลานั้นจะต้องอาศัยการทรงตัวที่ดีและความว่องไว เพราะหากทรงตัวไม่ดีจะทำให้ไม่สามารถเดินบนกะลาทั้งสองอันได้ เนื่องจากกะลาทั้งสองอันนั้น ไม่ได้มีความสมดุลหรือมีขนาดที่เท่ากัน ผู้แข่งขันจึงต้องหาเทคนิคในการเดินบนกะลาให้ได้ จึงจะสามารถทำให้ชนะการแข่งขันได้

2.ตีวงล้อ หากดูผิวเผินแล้ว การตีวงล้อดูเหมือนจะทำได้ง่าย ๆ แต่ไม่ใช่เลย เพราะการตีวงล้อนั้นจะต้องอาศัยน้ำหนักมือและความต่อเนื่องในการตีวงล้อ อีกทั้งยังต้องควบคุมทิศทางให้ดี เพราะหากขาดประสบการณ์ในการตีวงล้อ หรืออ่อนซ้อมในการตีวงล้อ ก็จะทำให้วงล้อหล่นลงกลางทางได้ ดังนั้นแล้วผู้เข้าแข่งขันควรจะซ้อมตีวงล้อก่อนการแข่งขัน

3.ชักกะเย่อ การละเล่นชนิดต้องอาศัยความร่วมมือ ความสามัคคีของสมาชิกในทีม เพราะการจะชนะชักกะเย่อได้นั้น ทุกคนในทีมต้องร่วมมือร่วมใจกันดึงเชือกในจังหวะที่พร้อมเพรียงกัน จึงจะส่งแรงดึงไปยังคู่แข่งได้

4.วิ่งกระสอบ แม้ว่าการวิ่งกระสอบจะเป็นการละเล่นที่เพิ่งมีไม่นานเหมือน ๆ การละเล่นอื่น แต่ก็มีมานานพอสมควรแล้ว และการละเล่นชนิดนี้ผู้เข้าแข่งขันจะต้องสวมกระสอบเข้าที่ขาทั้งสองข้าง โดยที่มือทั้งสองข้างจับมุมกระสอบทั้งสองมุม จากนั้นก็แข่งกันวิ่งเข้าสู่เส้นชัย ผู้ที่เข้าเส้นชัยเป็นคนแรกคือผู้ชนะ และหากไม่มีการซ้อมมาเป็นอย่างดี ผู้เข้าแข่งขันอาจจะวิ่งไปกลิ้งไปตามพื้นสนามได้ ดังนั้นผู้เข้าแข่งขันต้องคุ้นชินกับความกว้างของกระสอบ และจะต้องกะระยะการก้าวในแต่ละครั้งให้เหมาะสมกับความกว้างของกระสอบด้วย    

จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าการละเล่นไทยไม่นิยมเล่นคนเดียวได้ เพราะมักจะเล่นกันเป็นหมู่คณะ และที่สำคัญการนำการละเล่นไทยพื้นบ้านมาเป็นกีฬาท้องถิ่นนั้น นอกจากจะทำให้เกิดการอนุรักษ์การละเล่นพื้นบ้านของไทยแล้ว ยังทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีในหมู่คณะอีกด้วย