โฆษณาเกินจริง อังกาบหนู ทุเรียนเทศ บริโภคมากเกินไปส่งผลเสียต่อสุขภาพระยะยาว

ความเจ็บป่วยนั้นเป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากให้เกิดจึงเป็นที่มาของสำนวนที่ว่า “ การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ ” แต่เมื่อเกิดโรคแล้วไม่ว่าจะเป็นโรคร้ายแรง หรือไม่ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการรักษา ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าการรักษาด้วยวิทยาการสมัยใหม่ต้องใช้ค่าใช้จ่ายจำนวนมากทำให้ผู้ป่วยหลายคนหันมาพึ่งการรักษาตามหลักธรรมชาติ โดยการใช้สมุนไพรมักจะได้รับความนิยมเป็นอย่างมากโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยชาวไทย

ถึงแม้ว่าวงการการแพทย์สมัยใหม่จะพัฒนาด้านการรักษา และยาปฏิชีวนะไปมากแต่ยาสมุนไพรก็ยังถูกใช้มากเช่นกัน เนื่องจากยาแผนปัจจุบันผลิตมาจากสารเคมีจึงมีผลข้างเคียงส่งผลต่อสุขภาพและอวัยวะบางส่วน ซึ่งยาแผนปัจจุบันนั้นออกฤทธิ์ในระยะเวลาอันรวดเร็วจึงส่งผลต่อการปรับสมดุลในร่างกาย ดังนั้นการใช้ยาสมุนไพรร่วมด้วยจะเข้าไปช่วยเรื่องการปรับสมดุล และยังช่วยต้านอนุมูลอิสระลดผลข้างเคียงจากสารเคมีลงได้ แต่เหรียญมี 2 ด้านเสมอซึ่งสมุนไพรก็เช่นกัน

หลายปีมานี้เรามักจะเห็นข่าวสารเรื่องการแห่แหน และตื่นตัวของชาวไทยต่อโฆษณาของสมุนไพรต่าง ๆ ถึงแม้ว่าสมุนไพรบางชนิดนั้นยังไม่ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาก็ตาม แต่ชาวไทยส่วนใหญ่มักเชื่อคำโฆษณาแบบปากต่อปากส่งผลให้เกิดความนิยมแบบเฉียบพลันจนสมุนไพรชนิดนั้นขาดตลาดและมีราคาสูงขึ้น

ถ้ายังจำกันได้ราว ๆ 3 – 4 ปีที่แล้วเกิดกระแสทุเรียนเทศจากคำโฆษณาซึ่งไร้ที่มาว่าสามารถรักษาโรคมะเร็งได้ ทำให้คนไทยบางกลุ่มต่างพากันหาซื้อต้นไม้ชนิดนี้ เนื่องจากสรรพคุณที่ได้ยินมาว่า ช่วยลดความดันโลหิต ลดอาการปวดเกร็งในช่องท้อง ช่วยบำรุงหัวใจ ช่วยรักษาอาการปวดข้อ รูมาตอยด์ ลดอาการปวดศีรษะ นอนไม่หลับ แต่ไม่พบว่าใช้ทุเรียนเทศในการรักษามะเร็ง ความเข้าใจผิดนี้ทำให้หลายคนคิดว่าการบริโภคทุเรียนเทศในจำนวนมากอาจช่วยเรื่องมะเร็งได้ แต่การวิจัยพบว่าการบริโภคทุเรียนเทศในจำนวนมากอาจส่งผลเสียต่อไตในระยะยาวจนเกิดอาการไตวายเฉียบพลันได้

ล่าสุดได้ค้นพบพืชอีกหนึ่งชนิดที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในช่วงนี้ เนื่องจากความเชื่อที่ว่าสามารถรักษาโรคได้อีกเช่นกันนั่นคืออังกาบหนู เป็นพืชประเภทวัชพืชที่ขึ้นอยู่ตามภูเขามีดอกสีเหลืองเรียกอีกอย่างว่าเสลดพังพอน โดยมีการระบุถึงสรรพคุณดังต่อไปนี้ ใบใช้แก้อาการปวดฟัน ช่วยรักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน ใช้หยอดหูแก้หูอักเสบได้ สามารถแก้พิษงู และโรคปวดตามข้อ นอกจากนี้สารสกัดจากรากอังกาบหนูยังมีฤทธิ์ในการคุมกำเนิดได้อีกด้วย ซึ่งมีผลต่อการลดและระงับอสุจิในเพศชายอาจทำให้เป็นหมันได้เมื่อบริโภคในจำนวนมากเป็นเวลานาน ๆ

จะเห็นว่าทุกอย่างล้วนมี 2 ด้าน ไม่ว่าจะเป็นยาปฏิชีวนะหรือยาสมุนไพรก็ล้วนมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ดังนั้นการบริโภคยาทั้ง  2 ประเภทนี้ควรอยู่ในการควบคุมของแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น