ชาวเวเนซุเอล่าพากันอพยพซบไหล่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่องจากพิษเศรษฐกิจ

เมื่อพูดถึงวิกฤตเศรษฐกิจก็เป็นที่ทราบกันดีว่าหลายประเทศทั่วโลกต้องเผชิญกับปัญหาดังกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ประเทศเวเนซุเอล่าเป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับผลกระทบนี้ ส่งผลให้ผู้คนที่อาศัยและทำงานอยู่ในเวเนซุเอล่าต้องอพยพไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่องซึ่งบรรดาผู้อพยพนี้ 30% เป็นชาวเวเนซุเอล่า

เมื่อเดือนมกราคม 2018 ที่ผ่านมาสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในกรุงโบโกโต ประเทศโคลัมเบียได้รายงานว่า มีผู้อพยพจากประเทศเวเนซุเอล่าเข้ามายังประเทศโคลัมเบียถึง 550,000 คน จากผลกระทบของปัญหาทางเศรษฐกิจภายในประเทศทำให้คนโคลัมเบียที่อาศัยอยู่ในเวเนซุเอล่าต้องหนีกลับมายังประเทศตัวเอง รวมทั้งชาวเวเนซุเอล่าเองต้องอพยพออกจากประเทศเพื่อเอาชีวิตรอด จากเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นผลให้รัฐบาลโคลัมเบียจำเป็นต้องช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม โดยการจัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว และมอบปัจจัยพื้นฐานสำหรับการดำรงชีพ เช่น น้ำ อาหาร ยารักษาโรค ให้กับผู้อพยพเพื่อทำการหาที่อยู่ถาวรต่อไป

ปัญหาเศรษฐกิจในเวเนซุเอล่าดูเหมือนว่ายังไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังสืบเนื่องมาจนเดือนมิถุนายนในปีเดียวกัน โดยมีจำนวนผู้อพยพออกจากประเทศมายังโคลัมเบียซึ่งบางคนมีแผนว่าจะเดินทางต่อไปยังประเทศเอกวาดอร์ทำให้จำนวนผู้อพยพนั้นมีมากขึ้นกว่าล้านคน สำนักข่าวจากโคลัมเบียได้รายงานไว้ว่าสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของประเทศโคลัมเบียต้องทำงานหนักขึ้นหลายเท่าตัวเพื่อรองรับการทำงานในด้านการตรวจสอบเอกสารการเข้าเมืองของผู้อพยพจากเวเนซุเอล่าจากภาวะเงินเฟ้อที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข

ความคาดหวังที่ชาวเวเนซุเอล่าได้ให้ไว้กับรัฐบาลนั้นดูเหมือนจะเป็นความหวังอันเลือนลาง เนื่องจากปัญหาเงินเฟ้อนั้นยังคงเรื้อรัง และดูเหมือนว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ ซึ่งตลอดระยะเวลาปีกว่าที่ผ่านมาได้มีจำนวนผู้อพยพเพิ่มขึ้นกว่า 2 ล้านคนเพราะทนกับปัญหาภาวะข้าวยากหมากแพงจนต้องอดมื้อกินมื้อไม่ไหว ซึ่งการอพยพไปยังประเทศเพื่อนบ้านนั้นไม่ใช่แค่โคลัมเบียแต่ลุกลามไปถึงประเทศแถบละตินอเมริกาใกล้เคียงเช่น เอกวาดอร์ บราซิล และเปรู ส่งผลให้ประเทศเหล่านี้ต้องสร้างมาตรการที่รัดกุมเพื่อรองรับผู้ลี้ภัย

สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดภาวะวิกฤตเช่นนี้คือราคาน้ำมันที่ตกต่ำอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับนโยบายของรัฐบาลเวเนซุเอล่าที่เข้าไปแทรกแซง และควบคุมทุกอย่างทั้งภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม ส่งผลให้คนที่จ้างงานประชาชนกลายเป็นรัฐบาล และเมื่อรัฐบาลล้มจากภาวะการเมืองและเงินเฟ้อจึงไม่มีเงินจ้างประชาชน ดังนั้นการทำงานจึงต้องลดลงเหลือเพียงสัปดาห์ละ 2-3 วัน ส่งผลให้เกิดภาวะขาดแคลนในหมู่ของชนชั้นกลางและชนชั้นแรงงาน ถึงแม้รัฐบาลจะแก้ปัญหาด้วยการเปลี่ยนสกุลเงินก็ยังไม่ทำให้ปัญหานี้ถูกคลี่คลาย คนเวเนซุเอล่าจึงพากันลี้ภัยไปตายเอาดาบหน้าในประเทศเพื่อนบ้าน

จะเห็นว่าสิ่งที่คิดว่าแน่นอนที่สุดกลับเป็นเรื่องที่ไม่แน่นอน ฉะนั้นการใช้จ่ายอย่างระมัดระวังจึงเป็นเรื่องที่เราควรคำนึงถึง โดยเฉพาะการมีเงินสำรองเพื่อใช้ในเวลาฉุกเฉิน เพราะเราไม่รู้เลยว่าวันพรุ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้น ดังนั้นสิ่งที่ดีที่สุดที่สามารถทำได้ก็คือการไม่ฟุ่มเฟือย