เทคโนโลยีกับสังคมสูงวัย การปรับตัวเข้าหากันและกันของทั้งสองฝ่าย

หลายปีมาแล้วที่มีการกล่าวถึงสังคมสูงวัย ไม่ใช่เพียงแต่ในประเทศไทย แต่เป็นการกล่าวถึงในระดับโลก และมีการพยายามเชื่อมโยงประโยชน์ต่าง ๆ ของเทคโนโลยี เพื่อการแก้ไขปัญหาที่เกิดกับผู้สูงวัย หรือข้อแนะนำในการปรับตัวของผู้สูงวัยให้พร้อมใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่นประเทศที่มีอัตราส่วนของผู้สูงอายุมากที่สุดในโลกอย่างประเทศญี่ปุ่น ซึ่งก็เป็นประเทศใกล้บ้านกับประเทศไทย ที่ได้มีการนำเอาเทคโนโลยีที่เรียกว่าเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence หรือเรียกย่อ ๆ ว่า AI มาใช้ในการช่วยเหลือผู้สูงวัยในด้านต่าง ๆ เช่น หุ่นยนต์ที่ช่วยเหลือผู้สูงอายุในการเดินและช่วยเหลือตัวเอง ได้ในขณะที่อยู่ตามลำพัง หรือในประเทศโซนยุโรปอย่างสวีเดน ก็ได้มีการพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อเป็นพยาบาลส่วนตัวของผู้สูงอายุ ไว้คอยช่วยสื่อสารกับทีมแพทย์ โดยที่ไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาลเอง ในประเทศไทยเองนั้นก็ทีมโปรแกรมเมอร์นักพัฒนามากมาย ที่ได้มีการพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อให้ข้อมูลต่าง ๆ แก่ผู้สูงอายุ มีแม้กระทั่งการสามารถขอความช่วยเหลือไปยังหน่วยแพทย์ฉุกเฉินต่าง ๆ ผ่านแอปพลิเคชันได้ง่ายดายเพียงแค่กดปุ่มเดียว ซึ่งการพัฒนาในหลากหลายรูปแบบเหล่านี้จากทั่วโลกคือการบ่งบอกถึงความตระหนัก และการใส่ใจในคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยที่ กำลังเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่องนั่นเอง

ความสะดวกสบายและการใช้จ่ายของผู้สูงวัย

                นอกจากเทคโนโลยีที่สร้างมาเพื่อสูงวัยโดยเฉพาะแล้ว เทคโนโลยีด้านการบริการที่อำนวยความสะดวกแก่ทุกคนบนโลกใบนี้ อย่างเช่นการซื้อของออนไลน์และจ่ายเงินทางออนไลน์ (หรือการทำธุรกรรมออนไลน์) ก็ช่วยส่งเสริมให้ผู้สูงวัยสามารถเป็นลูกค้าที่ดีในกลุ่มธุรกิจบริการออนไลน์นี้เช่นกัน จากรายงานของ The New Age of Thais ของนีลเส็น ให้ข้อมูลว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา กลุ่มผู้สูงวัยรับหน้าที่หลักเป็นผู้จับจ่าย ซื้อของใช้เข้าบ้านแทนลูกหลาน โดยพฤติกรรมของการซื้อสินค้าของกลุ่มผู้สูงวัยนั้น เป็นการซื้อสินค้าประเภทที่เกี่ยวกับสุขภาพและอาหารสัตว์เป็นส่วนใหญ่ เพราะผู้สูงวัยมักนิยมเลี้ยงสัตว์เลี้ยงเป็นเพื่อนแก้เหงา และรวมไปถึงสินค้าประเภทเครื่องอุปโภคบริโภคทั่วไปเช่นกัน

เมื่อโครงสร้างทางสังคมเปลี่ยนไปเช่นนี้ แน่นอนทีเดียวว่าต้องมีอิทธิพลต่อผู้ผลิตสินค้าและร้านค้าต่าง ๆ เพราะพฤติกรรมและกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นผู้สูงวัยที่เพิ่มมากขึ้นนั้น ก็ทำให้นักการตลาดและแบรนด์สินค้าต่าง ๆ ต้องหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาสินค้าและคิดค้นนวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าผู้สูงวัยเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการผลิตสื่อที่เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน เช่น ฉลากสินค้าที่ตัวใหญ่เหมาะสม อ่านง่าย หรือแม้กระทั่งบริการที่ช่วยเบาแรง เช่น รถเข็นไฟฟ้า การบริการส่งสินค้าที่สะดวกรวดเร็ว สิ่งเหล่านี้คือปัจจัยที่ทำให้ผู้สูงวัยกลายเป็นลูกค้าที่ดีต่อไป ซึ่งก็เป็นการดูแลผู้สูงวัยไปด้วยเช่นกัน