จตุรมิตรสามัคคี! มิตรภาพอันยาวนานแห่งวงการลูกหนังขาสั้น

ในประเทศไทยของเราฟุตบอลในระดับมัธยมศึกษามีการแข่งขันมากมายหลายรายการที่เกิดขึ้นเป็นประจำในทุก ๆ ปี แต่รายการที่จะกล่าวถึงนั้นคือฟุตบอลประเพณีรายการ “จตุรมิตรสามัคคี” ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในฟุตบอลประเพณีที่มีเสน่ห์มนต์ขลังอย่างมากในประเทศไทย ซึ่งฟุตบอลรายการนี้ประกอบไปด้วย 4 โรงเรียนชายล้วนเก่าแก่ชื่อดังในประเทศไทยอย่าง สวนกุหลาบวิทยาลัย, เทพศิรินทร์, กรุงเทพคริสเตียนและอัสสัมชัญ โดยฟุตบอลประเพณีจตุรมิตรสามัคคีนั้นเริ่มจัดแข่งขันตั้งแต่ในปี พ.ศ.2507 และถูกกำหนดให้จัดขึ้นทุก ๆ 2 ปี แต่ละครั้งก็จะมีการผลัดเปลี่ยนโรงเรียนที่เป็นเจ้าภาพทวนไปตามแบบเข็มนาฬิกา ส่วนสังเวียนที่ใช้ในการแข่งขัน ก็คือสนาม “สังเวียนกรีฑาสถานแห่งชาติ” หรือที่รู้จักกันได้ดีในนามสนาม “ศุภชลาศัย” ทั้งนี้การแข่งขันถูกจัดขึ้นก็เพื่อจุดประสงค์ในการเชื่อมความสัมพันธ์อันดีของทั้ง 4 สถาบันให้เกิดมิตรภาพและความสามัคคีเข้าไว้ด้วยกันนั่นเอง โดยปลายปี 62 นี้ การแข่งขันครั้งที่ 29 ก็จะกลับมาอุบัติขึ้นอีกหน

ความพิเศษของฟุตบอลประเพณีจตุรมิตรสามัคคี

นอกจากความเป็นมาอันยาวนานของบอลประเพณีลูกหนังขาสั้นรายการนี้ที่มีชื่อเสียงอย่างยาวนานมาถึงขวบปีที่ 55 แล้วสิ่งสำคัญที่เรียกได้ว่าเป็นความพิเศษของจตุรมิตรสามัคคีนั้นคือ “กองเชียร์” และ “การแปลอักษร” มาเริ่มกันในส่วนของกองเชียร์ก่อนที่ไม่ว่าจะเป็นศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน ครู บุคลากรต่าง ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโรงเรียนทั้ง 4 ต่างหลั่งไหลกันมาให้กำลังใจทีมของตนเองอย่างล้นหลามบนอัฒจรรย์ ประกอบกับแต่ละโรงเรียนนั้นจะมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองที่ชัดเจนไม่ว่าจะเป็น สีประจำโรงเรียน, การแต่งกาย และที่วิเศษสุด คือ เพลงเชียร์ที่มีเนื้อร้องแตกต่างกันไปแต่สิ่งเดียวที่เป็นจุดประสงค์หลักนั้นก็เพื่อให้เพลงนั้นถูกส่งลงไปยังสนามให้นักบอลทั้ง 11 คน ได้ยินและกระตุ้นให้พวกเขาสู้ด้วยหัวใจที่มีต่อสถาบันอันเป็นที่รัก

มาต่อกันที่ส่วนของการแปลอักษรที่แต่ละโรงเรียนจะมีนักเรียนประจำอยู่บนสแตนด์ฝั่งตรงข้ามที่ไร้หลังคาของสนาม โดยพวกเขาจะนำสมุดสีเล่มเล็ก ๆ มาประกอบกันบนสิ่งที่เรียกว่า “เพลต” หรือโครงเหล็กที่ไว้ใช้ในการติดสมุดสีพร้อมด้วยโค้ดในการแปรเพื่อให้สามารถเรียงสมุดสีในแต่ละจุดให้ออกมาเป็นภาพขนาดใหญ่ที่สวยงาม แต่กว่าจะได้ในแต่ละภาพนักเรียนของทั้ง 4 สถาบันจะต้องผ่านการฝึกซ้อมมาเป็นแรมเดือน เรียกได้ว่าหากไม่รักสถาบันกันจริงคงทำไม่ได้ถึงขนาดนี้

ชัยชนะไม่ใช่ทุกสิ่ง

ถึงแม้ว่าการแข่งขันฟุตบอลจะต้องมีแพ้มีชนะซึ่งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่กับฟุตบอลจตุรมิตรแล้วเรื่องของถ้วยรางวัล ความสำเร็จ อาจจะเป็นเรื่องรอง เมื่อการแข่งขันนั้นมีก็เพื่อสร้างมิตรภาพระหว่างโรงเรียนทั้ง 4 ให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น รวมถึงการได้กลับมาเยี่ยมเยียนเพื่อน พี่น้อง ครู อันเป็นที่รักยิ่งของพวกเขาอีกครั้งเพื่อรำลึกถึงวันวานในสมัยที่ยังได้ชื่อว่าเป็น “นักเรียน” อีกครั้ง