ความย้อนแย้ง รัฐนำร่องรณรงค์งดสูบบุหรี่แต่ทุ่มงบกว่า 4,000 ล้าน ขยายฐานการผลิตบุหรี่

                ปฏิเสธไม่ได้ว่าการสูบบุหรี่นั้นส่งผลร้ายมากกว่าผลดีต่อสุขภาพของผู้สูบและคนใกล้ชิด ซึ่งโทษของบุหรี่มีหลายประการ เช่น

  1. ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดส่วนที่ไปเลี้ยงสมองตีบ ตัน และแตก ทำให้เป็นโรคสมองเสื่อม โดยเฉพาะคนที่สูบบุหรี่อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน ประสิทธิภาพของสมองจะเสื่อมเร็วกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่ และจะมีระบบการทำงานของสมองที่แก่กว่าอายุจริงถึง 10 ปี
  2. เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปอด อาการเริ่มจากไอเรื้อรัง หายใจติดขัด หลอดลมอักเสบ ถุงลมโป่งพอง และพัฒนาไปสู่โรคมะเร็งปอดซึ่งเป็นโรคร้ายที่คร่าชีวิตคนไทยเป็นอันดับต้น ๆ โดยผู้ป่วยร้อยละ 90 จะเสียชีวิตภายใน 1-2 ปีหลังจากทราบว่าตนเป็นโรคนี้
  3. นิโคตินในบุหรี่จะไปทำลายกล้ามเนื้อในกระเพาะปัสสาวะทำให้อ่อนตัวและกลั้นปัสสาวะไม่อยู่

จากโทษที่ยกตัวอย่างในข้างต้นเป็นเพียงหนึ่งในหลาย ๆ ผลกระทบที่เกิดจากการสูบบุหรี่ เป็นผลให้เกิดการรณรงค์ทั้งจากภาครัฐและเอกชนกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งวันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปีนั้น เป็นวันงดสูบบุหรี่โลก โดยในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดงานวันงดสูบบุหรี่โลก ประจำปี 2561 ในประเด็น “ รักษ์หัวใจ ห่างไกลบุหรี่ ” เพื่อให้ประชาชนเกิดความรอบรู้ถึงอันตรายของบุหรี่ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ  จากรายงานการสำรวจล่าสุดปี 2560 พบว่าประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป มีอัตราการสูบบุหรี่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นเป้าหมายในการทำงานจึงมุ่งเน้นรณรงค์ในกลุ่มเยาวชนอายุ 15 – 24 ปี เพื่อลดจำนวนนักสูบหน้าใหม่

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นกันว่า บุหรี่สร้างรายได้มหาศาลให้กับภาครัฐบาลและประเทศ ด้วยการจัดเก็บภาษียาสูบ ซึ่งในแต่ละปีนั้นรายได้จากภาษีเหล่านี้เป็นรายได้ที่สามารถนำมาพัฒนาประเทศในหลาย ๆ ด้าน แต่ด้วยจำนวนผู้สูบที่ลดลงในปีที่ผ่านมาทำให้รัฐเริ่มเกิดภาวะสั่นคลอนด้านการเก็บภาษีจากยาสูบ เป็นผลให้กระทรวงการคลังในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลการยาสูบแห่งประเทศไทยต้องทุ่มงบประมาณกว่า 4,000 ล้านบาทเพื่อสร้างฐานการผลิตบุหรี่ขนาดใหญ่ โดยการลงทุนนำเข้าเทคโนโลยีที่มีคุณภาพพร้อมผลิตบุหรี่ในปริมาณมาก ๆ เพื่อรองรับการเปิดตลาดแห่งใหม่ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ

จากข้อมูลดังกล่าวดูจะสวนทางกับการรณรงค์งดสูบบุหรี่ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทำให้หลายคนตั้งข้อสังเกตเรื่องความจริงใจของรัฐบาลต่อการรณรงค์ให้ประชาชนระดับเยาวชนลด ละ เลิกสูบบุหรี่ เพื่อลดการเพิ่มจำนวนของนักสูบหน้าใหม่ เพราะการเพิ่มปริมาณบุหรี่ที่มากขึ้น ในอนาคต อาจทำให้เยาวชนไทยกลายเป็นกลุ่มเยาวชนที่มีการสูบบุหรี่กันอย่างกว้างขวางเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกก็เป็นได้